การปรับตัวเพื่ออยู่กับผู้ป่วยจิตเวช คำแนะนำสำหรับบุคคลใกล้ชิด

แนะนำวิธีและเตรียมความพร้อมสำหรับผู้อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจิตเวช ทั้งร่างกายและจิตใจ

การปรับตัวเพื่ออยู่กับผู้ป่วยจิตเวช

การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวชอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับบุคคลใกล้ชิด การสร้างความเข้าใจและการเตรียมตัวที่เหมาะสมของบุคคลใกล้ชิดสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาฟื้นฟูและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ บทความนี้คลินิกสุขภาพจิต ปีติ คลินิก จะช่วยให้คุณทราบถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง และวิธีการจัดการความเครียดที่อาจเกิดขึ้นจากการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

 

สิ่งที่บุคคลใกล้ชิดควรปฏิบัติ เมื่ออยู่กับผู้ป่วยจิตเวช

  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวช การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ หรือโรคจิตเภท เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ เพราะการมีความเข้าใจที่ถูกต้องจะช่วยให้คุณรับมือกับอาการและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถให้การช่วยเหลือได้ตรงจุด

  • การสื่อสารอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาและให้การประคับประคองอารมณ์ เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชมักรู้สึกว่าตนเองถูกตัดขาดจากคนรอบข้าง การสื่อสารอย่างเปิดเผยและไม่ตัดสินเป็นวิธีที่ดีในการสร้างความไว้ใจให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าคุณพร้อมที่จะเข้าใจและยอมรับเขาอย่างที่เขาเป็น การแสดงความเห็นอกเห็นใจและการอยู่เคียงข้างในช่วงเวลาที่ยากลำบากเป็นการส่งเสริมการรักษาฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ

  • สร้างบรรยากาศที่สงบและปลอดภัย มีผลต่อสภาวะทางจิตใจ การสร้างบรรยากาศที่เงียบสงบ ปราศจากความกดดันและความเครียดจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจมากขึ้น หลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งหรือการกดดันผู้ป่วย เพราะจะทำให้อาการของโรคจิตเวชแย่ลง

  • สนับสนุนให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง การดูแลเรื่องการรับประทานยาและการเข้าพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ป่วยบางคนอาจมีความรู้สึกต่อต้านการรักษา คุณสามารถช่วยประคับประคองเขาอย่างนุ่มนวลและไม่บังคับ แนะนำให้เขารู้ว่าการรักษาเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขามีสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว

  • มีแผนการรับมือในกรณีฉุกเฉิน เช่น เมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบหรืออยู่ในภาวะวิกฤติ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตราย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และเตรียมช่องทางการติดต่อกับหน่วยงานที่สามารถให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน

 

สิ่งที่บุคคลใกล้ชิดควรหลีกเลี่ยง

  • ไม่ใช้ความรุนแรงหรือการแสดงออกเชิงลบ ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและการใช้คำพูดทำให้ผู้ป่วยจิตเวชมีอาการแย่ลง การตำหนิหรือการสร้างความเจ็บปวดทางจิตใจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหมดกำลังใจหรือกลัวการพูดคุยกับบุคคลใกล้ชิด สิ่งสำคัญคือการแสดงออกอย่างเข้าใจและให้กำลังใจแม้ว่าผู้ป่วยอาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าหรือหมดกำลังใจ

  • หลีกเลี่ยงการกดดันหรือเร่งรัดผู้ป่วย ผู้ป่วยจิตเวชต้องการเวลาในการฟื้นตัวและการปรับตัว การกดดันให้เขากลับมาเป็นปกติโดยเร็วหรือการตั้งความคาดหวังที่สูงเกินไปจะสร้างความกดดันและส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองล้มเหลว การเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยฟื้นตัวในจังหวะที่เขาสามารถทำได้จะเป็นการสนับสนุนที่ดี

  • ไม่เปรียบเทียบผู้ป่วยกับคนอื่น การเปรียบเทียบผู้ป่วยกับบุคคลอื่นที่ดูเหมือนจะดีกว่าหรือหายเร็วกว่า จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่และหมดกำลังใจ ทุกคนมีเส้นทางการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน คุณควรให้การดูแลโดยไม่เปรียบเทียบและให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ

 

การเฝ้าระวังภาวะความเครียดจากการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

ภาวะความเครียดจากการดูแลผู้ป่วย (Caregivers Burden) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับผู้ดูแลเมื่อได้รับภาระการดูแลที่มากเกินไป โดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากบุคคลใกล้ชิดหรือไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ อาการที่เกิดขึ้นอาจรวมถึงความเหนื่อยล้าทั้งทางกายและจิตใจ ความรู้สึกอ่อนเพลียหมดพลังงาน เกิดความเครียดหรือวิตกกังวล ซึ่งหากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ

 

อาการที่พบได้บ่อยของภาวะความเครียดจากการดูแลผู้ป่วยจิตเวช

  • ความเหนื่อยล้าและอ่อนเพลีย ผู้ดูแลที่ทำงานหนักเกินไปโดยไม่พักผ่อนอย่างเพียงพออาจรู้สึกเหนื่อยล้าและหมดพลัง ทำให้การดูแลผู้ป่วยกลายเป็นงานที่หนักและยากมากขึ้น ความเหนื่อยล้าทำให้ผู้ดูแลไม่มีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • อาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล การดูแลผู้ป่วยจิตเวชอาจทำให้ผู้ดูแลรู้สึกเศร้าหรือกังวลเกี่ยวกับอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นผู้ป่วยไม่ดีขึ้นตามที่คาดหวัง อาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและสุขภาพจิตของผู้ดูแลเอง

  • ความรู้สึกสิ้นหวังหรือความรู้สึกโกรธ ผู้ดูแลอาจรู้สึกโกรธหรือสิ้นหวังเมื่อพบว่าความพยายามของตนเองไม่ได้ส่งผลที่ดีต่อผู้ป่วย อารมณ์เชิงลบเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือรู้สึกว่าการดูแลผู้ป่วยเป็นเรื่องที่หนักเกินไป

 

การรับมือกับภาวะความเครียดจากการดูแลผู้ป่วย

  • การสร้างเครือข่ายสนับสนุน การขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นจากสมาชิกในครอบครัว บุคคลในชุมชนหรือจากหน่วยงานด้านสุขภาพจิตที่มีบริการให้คำปรึกษา การมีคนคอยช่วยแบ่งเบาภาระ ทำให้ผู้ดูแลรู้สึกไม่โดดเดี่ยวและไม่หมดกำลังใจในการดูแลผู้ป่วย

  • จัดการเวลาพักผ่อนและทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย การหาเวลาสำหรับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตของผู้ดูแล การทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด เช่น การออกกำลังกาย การทำสมาธิ หรือการนั่งอ่านหนังสือ จะช่วยให้ผู้ดูแลสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ

  • แบ่งเบาภาระการดูแล โดยการขอความช่วยเหลือภายนอก เช่น พยาบาลหรือผู้ช่วยดูแล จะช่วยลดความเครียดของผู้ดูแลได้ การมีคนมาช่วยดูแลผู้ป่วยเป็นบางช่วงเวลาจะทำให้ผู้ดูแลมีเวลาสำหรับการพักผ่อนและดูแลตัวเองมากขึ้น

  • ฝึกการปล่อยวางและลดรู้สึกผิด การดูแลผู้ป่วยจิตเวชเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนและมีหลายอย่างที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ คุณควรเรียนรู้ที่จะปล่อยวางเมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่หวัง การปล่อยวางไม่ใช่การละเลยหน้าที่หรือการละทิ้งผู้ป่วย แต่เป็นหนึ่งในการดูแลตนเองและรักษาสมดุลในชีวิต

 

การดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้กลับมามีสุขภาพจิตที่แข็งแรงดังเดิมเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่สุขภาพจิตของผู้ดูแลก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกัน เนื่องจากผู้ดูแลต้องอยู่ใกล้ชิดและได้สัมผัสกับอาการ รวมถึงปฏิกิริยาต่าง ๆ ของผู้ป่วยโดยตรง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะซึมซับความเครียดหรือความไม่สบายใจมาได้โดยง่าย ปีติ คลินิก จึงหวังว่าผู้ที่ต้องอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยจิตเวชทุกคนจะมีวิธีในการรับมือ เตรียมพร้อมทางร่างกายและจิตใจไว้อย่างแข็งขัน เพราะต้องไม่ลืมว่าสุขภาพจิตของผู้ดูแลก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน

คลินิกสุขภาพจิต ปีติ คลินิก เราให้บริการด้านการรักษาโรคทางจิตเวชโดยเฉพาะ รักษาโรคซึมเศร้า รักษาแพนิค รวมถึงการบำบัด รักษาอาการนอนไม่หลับ รักษาสมาธิสั้น ให้คำปรึกษาเรื่องทั่วไป ปรึกษาปัญหาชีวิต ให้กับผู้ป่วยหลากหลายช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ดูแลโดยทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จิตแพทย์ทั่วไป จิตแพทย์ผู้สูงอายุ และนักบำบัด สามารถตรวจสอบตารางเข้าเวรของจิตแพทย์ได้ที่หน้าเว็บไซต์ เพื่อเลือกเข้ารับการรักษาหรือปรึกษาจิตแพทย์ได้ตามเวลาที่คุณสะดวก

 

ต้องการรับคำแนะนำในการรักษาสำหรับผู้ป่วยจิตเวช ติดต่อ ปีติ คลินิก

เบอร์โทรศัพท์ : 090 230 6000
Line : @piticlinic
อีเมล : piticlinic.co@gmail.com
Facebook : Piti Clinic ปีติ คลินิก