อยากระบายมีคนพร้อมรับฟัง ปรึกษาปัญหาชีวิต นักจิตวิทยาช่วยได้
ประเมินอาการตนเองเบื้องต้น เราควรปรึกษาปัญหาชีวิตกับจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดหรือยัง?
ทุกคนย่อมเคยเผชิญกับความเครียด ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะมาจากงาน ความกดดันจากครอบครัว หรือปัญหาความสัมพันธ์ต่าง ๆ ความเครียดเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเราทั้งในด้านร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อย่างโรคกระเพาะ ในด้านพฤติกรรม ความเครียดอาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือรู้สึกเบื่อง่ายไม่อยากทำอะไร และในด้านจิตใจ อารมณ์อาจแปรปรวน หงุดหงิด หรือรู้สึกเศร้าซึม หมดความสนใจในการทำสิ่งต่าง ๆ
ในบทความนี้คลินิกสุขภาพจิต ปีติ คลินิก จึงอยากจะพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับกระบวนการจิตวิทยา สิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับจิตใจของเราในฐานะมนุษย์อย่างไร พร้อมแนะนำวิธีสังเกตและประเมินอาการตนเอง เพื่อให้คุณรู้เท่าทันภาวะที่พบเจออยู่และรับมือได้อย่างถูกวิธียิ่งขึ้น
รู้จักให้ลึกซึ้ง: จิตวิทยากับจิตใจของมนุษย์
จิตใจของมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ทำหน้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนเบื้องหลังความคิด อารมณ์ และการกระทำทั้งหมด กำหนดวิธีที่แต่ละคนรับรู้โลก การตัดสินใจ และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม บางครั้งจิตใจอาจทำงานขัดกับเรา ทำให้เกิดความวุ่นวายทางอารมณ์ ความเครียด และความสับสน ซึ่งเป็นจุดที่จิตวิทยาเข้ามามีบทบาทสำคัญ
ศาสตร์ของจิตวิทยานี้มุ่งเน้นการทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ เพื่ออธิบายว่าทำไมบุคคลจึงตีความเหตุการณ์ เรียนรู้ ตัดสินใจ และปฏิบัติตนในแบบต่าง ๆ ความรู้จากจิตวิทยาสามารถช่วยบุคคล ครอบครัว และองค์กรในการพัฒนาทักษะที่ช่วยให้การตัดสินใจและการเลือกทางเลือกเป็นไปอย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยนักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ จะช่วยให้ผู้คนสำรวจและเข้าใจตนเอง รวมถึงการจัดการอารมณ์ พฤติกรรม สุขภาพจิต และความสัมพันธ์กับผู้อื่น
หลายคนเลือกที่จะแสดงออกสิ่งเหล่านั้นออกมา และก็ยังมีอีกหลายคนที่เก็บปัญหานั้นไว้กับตนเอง อาจเนื่องด้วยประสบการณ์ที่บุคคลนั้นประสบพบเจอมา ว่าการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง หรือไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการที่แสดงความต้องการของตนออกไป และในแง่ของค่านิยมทางสังคม กลัวจะถูกตำหนิ ถูกมองในมุมที่ไม่ดี จึงเลือกที่จะเก็บไว้กับตนเอง การเก็บกดสิ่งเหล่านั้นไว้นาน ๆ อาจจะนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจได้ในภายหลัง การได้พูดคุยและระบายเกี่ยวกับปัญหาหรือความรู้สึกที่ค้างคาเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความตึงเครียด ช่วยให้ได้ปลดปล่อยทางจิตใจ และยังมีผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้รับการรับฟังจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา
ความสำคัญของนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัด
นักจิตวิทยา คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อศึกษาและเข้าใจพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ของมนุษย์ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการคำปรึกษาทางจิตใจ ถือว่าเป็นหนึ่งในทีมสหวิชาชีพที่ดูแลด้านจิตใจ โดยประกอบไปด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาลจิตเวช เป็นต้น
นักจิตวิทยาสามารถประเมินปัญหาสุขภาพจิตของผู้มารับคำปรึกษาผ่านการสัมภาษณ์และการทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อช่วยให้จิตแพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง เรียกว่าเป็นการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ นักจิตวิทยายังทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและสนับสนุนทางจิตใจ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ฟังและแนะนำวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นกลาง ซึ่งช่วยให้ผู้ที่มีปัญหามองเห็นปัญหาของตนได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคนิคการจัดการกับอารมณ์และพฤติกรรม เช่น การเผชิญหน้ากับความเครียดหรือการฝึกสมาธิเพื่อควบคุมอารมณ์ ทั้งนี้ นักจิตวิทยายังมีบทบาทในการฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพจิตให้ผู้ที่มีปัญหากลับมามีชีวิตที่สมดุลและมีความสุขมากขึ้น โดยการให้คำแนะนำในระยะยาวและส่งเสริมวิธีคิดเชิงบวก
จิตบำบัด: วิธีการรักษาจิตใจโดยผู้เชี่ยวชาญ
วิธีการที่พบบ่อยที่สุดคือการทำจิตบำบัด ซึ่งมีหลายรูปแบบ นักจิตวิทยาจะทำงานร่วมกับบุคคลนั้นเพื่อระบุวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา ที่เหมาะสมกับลักษณะและความชอบของผู้มารับบริการ การบำบัดที่พบบ่อย ได้แก่ การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-behavioral therapy), การบำบัดแบบเน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal therapy), การบำบัดมนุษยนิยม (Humanistic therapy), การบำบัดเชิงจิตพลวัต (Psychodynamic therapy) หรือการผสมผสานระหว่างหลายรูปแบบ โดยการบำบัดสามารถจัดสำหรับบุคคล คู่รัก กลุ่ม หรือแม้แต่ครอบครัว
ทำไมจึงควรเข้ารับการรักษา ปรึกษาปัญหาชีวิต หรือบำบัด กับนักจิตวิทยาโดยตรง?
หลายคนอาจสงสัยว่า การพูดคุยกับนักจิตวิทยาแตกต่างจากการปรึกษาคนใกล้ตัว เช่น เพื่อน ครอบครัว หรือคนรู้จักอย่างไร เพราะเมื่อเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก การเล่าเรื่องให้คนเหล่านั้นฟังมักช่วยให้รู้สึกสบายใจได้บ้าง แล้วทำไมถึงต้องไปคุยกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น?
คำตอบคือ เมื่อลองพิจารณาอย่างลึกซึ้ง การปรึกษาคนใกล้ตัวอาจไม่เหมาะสมในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง การได้รับคำแนะนำจากคนใกล้ตัวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหานั้นอาจขาดความเป็นกลาง หรือไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับความต้องการ แม้พวกเขาจะมีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือ แต่บางครั้งก็อาจยากสำหรับคนเหล่านั้นที่จะฟังอย่างไม่ตัดสินใจหรืองดเว้นจากการพยายามแก้ปัญหาในแบบที่เห็นว่าถูกต้อง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการ
นอกจากนี้ คนใกล้ตัวอาจไม่สามารถรักษาความเป็นกลางได้เสมอ หรือบางครั้งอาจมีอารมณ์และแรงจูงใจส่วนตัวที่ส่งผลต่อคำแนะนำ การปรึกษากับนักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญที่ถูกฝึกมาเพื่อรับฟังอย่างเป็นกลาง โดยไม่ตัดสิน และสามารถช่วยให้ได้สำรวจความรู้สึก ความคิด และปัญหาในมุมมองใหม่ การพูดคุยกับนักจิตวิทยาจึงเป็นการสนับสนุนเชิงวิชาชีพที่ต่างจากการปรึกษากับเพื่อนหรือครอบครัว ในรูปแบบมิติที่ลึกซึ้งและเป็นระบบ
สิ่งที่ได้รับจากการพูดคุยกับนักจิตวิทยาคือ การรักษาความเป็นส่วนตัว การรักษาความลับ ซึ่งเข้าใจดีว่าการเปิดเผยเรื่องส่วนตัวในการบำบัดอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัว มีความไม่มั่นใจและทำให้เครียดได้ แต่นักจิตวิทยามีหน้าที่คอยช่วยเหลือ สนับสนุน และทำงานร่วมกับคุณเพื่อสำรวจปัญหาที่คุณกำลังเผชิญ เช่น บาดแผล หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่คุณเคยประสบมา เรื่องบางเรื่อง อาจจะพูดกับใครไม่ได้ แม้แต่คนใกล้ตัว เพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งเหล่านั้นจะเก็บเป็นความลับ ดังนั้นการพูดคุยกับนักจิตวิทยาจะตัดปัญหาเหล่านี้ออกไป เพราะพวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเรื่องราวของเรา และยังยึดถือจรรยาบรรณในการรักษาความลับของผู้มารับบริการ ตามพรบ.สุขภาพจิต 2551
ความเป็นกลาง เนื่องจากนักจิตวิทยาไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับผู้รับการปรึกษาโดยตรง จึงปราศจากอคติต่อบุคคลฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และสามารถให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสม ไม่เอนเอียงไปทางใด ปัญหาที่เกิดขึ้นจะถูกวิเคราะห์และแนะนำตามสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับคำตอบที่ตรงประเด็นและไม่มีความลำเอียงในทิศทางใด
การพูดคุยกับนักจิตวิทยาแตกต่างจากการปรึกษากับคนใกล้ชิดตรงที่นักจิตวิทยามีความเชี่ยวชาญ ความเป็นกลาง และความสามารถในการรักษาความลับอย่างเข้มงวด ซึ่งทำให้ผู้เข้ารับคำปรึกษาสามารถเปิดเผยเรื่องราวและปัญหาที่ลึกซึ้งได้โดยไม่ต้องกังวลว่าสิ่งเหล่านั้นจะถูกเปิดเผยหรือมีการตัดสิน นักจิตวิทยาสามารถให้คำแนะนำที่มีพื้นฐานจากความรู้และประสบการณ์ ซึ่งต่างจากคำแนะนำจากคนใกล้ชิดที่อาจมาจากอารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัว การปรึกษานักจิตวิทยาจึงเป็นทางเลือกที่ดีเมื่อต้องการมุมมองและการช่วยเหลืออย่างมืออาชีพในช่วงเวลาที่ยากลำบาก
วิธีสังเกตตนเอง เมื่อไรที่เราควรพบนักจิตวิทยา
แล้วในตอนไหนหรือเมื่อไรที่ควรมาพบกับนักจิตวิทยา หลายคนอาจจะลังเล หรือสับสนว่าในช่วงเวลานี้ ตัวเราเองนั้น ควรจะไปปรึกษานักจิตวิทยาหรือยัง นี่อาจจะเป็นส่วนให้ช่วยได้ตัดสินใจ ดังต่อไปนี้
- หากรู้สึกว่ากำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต เช่น อาการหดหู่ เครียดสะสม หรืออารมณ์ที่เปลี่ยนไป หมดความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินชีวิตและความสุข การดูแลสุขภาพจิตอย่างทันท่วงทีจึงมีความสำคัญอย่างมาก
- เรื่องราวในอดีตที่ยังคงรบกวนจิตใจ ประสบการณ์ที่ยังตามหลอกหลอนอาจทำให้เกิดความกังวลและส่งผลต่อจิตใจในปัจจุบัน การจัดการกับปัญหานี้จะช่วยให้ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นใจ
- พฤติกรรมหรือความคิดที่เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปกติ หรือการทำร้ายตนเอง การขอคำปรึกษาสามารถช่วยหาทางแก้ไขและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
- ปัญหาความสัมพันธ์ เช่น การเลิกรา หรือความขัดแย้งกับครอบครัว อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพจิตใจ การปรึกษานักจิตวิทยาจะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์และจัดการกับความรู้สึกได้ดีขึ้น
- เมื่อต้องการความช่วยเหลือในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ เช่น การเปลี่ยนงานหรือการเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ นักจิตวิทยาสามารถช่วยให้มองเห็นทางเลือกที่ชัดเจนและเข้าใจความเป็นไปได้ต่าง ๆ
- การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เช่น การสูญเสียคนสำคัญ หรือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต อาจทำให้รู้สึกสับสน การปรึกษานักจิตวิทยาช่วยให้เผชิญกับสถานการณ์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ปัญหาสุขภาพกายที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ควรได้รับการดูแลและจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้สุขภาพจิตทรุดหนัก เช่น การเจ็บป่วยเป็นโรคร้าย
- การสำรวจและพัฒนาศักยภาพของตัวเองเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิต การปรึกษานักจิตวิทยาจะเปิดโอกาสให้เรียนรู้และเข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น
ท้ายที่สุดนี้ หากคุณเลือกที่จะหานักจิตวิทยาที่เหมาะสม อาจจะเริ่มได้จากการประเมินปัญหาของตนเองว่าต้องการความช่วยเหลือในด้านใด เช่น ความเครียด ความสัมพันธ์ หรือภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล จากนั้นค้นหานักจิตวิทยาผ่านแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น สมาคมนักจิตวิทยาแห่งประเทศไทย หรือตามแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการรีวิว ตรวจสอบคุณสมบัติ ใบอนุญาต และความเชี่ยวชาญของนักจิตวิทยาเพื่อให้ตรงกับปัญหาที่ต้องการปรึกษา
โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานและคลินิกให้เลือกมากมาย คุณสามารถพิจารณาความสะดวกในการเข้าถึง ทั้งการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้ง เพราะการพูดคุยปรึกษากับนักจิตวิทยานั้น ในส่วนมากไม่ได้จบลงที่การพบกันครั้งเดียว การสอบถามราคา อัตราการให้บริการจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ และในยุคปัจจุบันนี้การปรึกษาออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายเช่นกัน สุดท้ายคือติดต่อเพื่อนัดหมายและเริ่มการปรึกษา โดยอาจมีการทดลองพูดคุยเพื่อประเมินความเหมาะสมในการบำบัด
หากคุณตัดสินใจว่าต้องการเข้ารับคำปรึกษาปัญหาชีวิต หรือปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นในจิตใจของคุณ คลินิกจิตเวช ปีติ คลินิก เรามีทีมจิตแพทย์และนักจิตบำบัดพร้อมให้บริการรักษาปัญหาสุขภาพจิตโดยตรง เช่น รักษาโรคซึมเศร้า รักษาแพนิค ไปจนถึงการบำบัดความผิดปกติอื่น ๆ เช่น รักษาอาการนอนไม่หลับ รักษาสมาธิสั้น ให้คำปรึกษาเรื่องทั่วไป ปรึกษาปัญหาชีวิต สำหรับผู้ป่วยทุกช่วงอายุ ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน หรือผู้สูงอายุ เพราะเราเชื่อว่าเรื่องสุขภาพจิตของคุณ เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยอย่างเด็ดขาด
ต้องการปรึกษาจิตแพทย์ หรือปรึกษาปัญหาชีวิต ติดต่อ ปีติ คลินิก
เบอร์โทรศัพท์ : 090 230 6000
Line : @piticlinic
อีเมล : piticlinic.co@gmail.com
Facebook : Piti Clinic ปีติ คลินิก