รักษาโรคซึมเศร้าต้องกินยาหรือไม่ กินแล้วช่วยอย่างไร
หาคำตอบ การรักษาโรคซึมเศร้าจำเป็นต้องกินยาเท่านั้นจริงหรือ?
โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพจิตที่ทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เศร้าหมอง รู้สึกเบื่อหน่าย สูญเสียความสนใจหรือความสุขในกิจกรรมต่างๆที่เคยชอบ ในเด็กและวัยรุ่นอาจพบอารมณ์หงุดหงิดง่ายได้เด่นชัดกว่าอารมณ์เศร้า มีความรู้สึกผิดง่าย ท้อแท้สิ้นหวัง รู้สึกไม่มีพลัง ไม่มีสมาธิจดจ่อ ตัดสินใจได้ช้าลง กระสับกระส่ายหรือทำอะไรช้าลงกว่าปกติ อยากรับประทานมากขึ้นหรือลดลงอย่างมาก มีปัญหาการนอนหลับ อาจมีความคิดฆ่าตัวตายหรืออยากทำร้ายตนเอง อาการเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นเป็นเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์และมีผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวันหรือการเข้าสังคมของผู้ป่วย
การเริ่มต้นการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยามักจะพิจารณาจากความรุนแรงของอาการ ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรงอาจได้รับการแนะนำให้ใช้ยาตั้งแต่ในช่วงแรกของการรักษา เนื่องจากยาสามารถช่วยให้อาการดีขึ้นได้อย่างชัดเจน
กลุ่มยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคซึมเศร้า
ยารักษาโรคซึมเศร้าซึมเศร้ามีหลายชนิด แต่ละชนิดมีกลไกการทำงานและผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน กลุ่มยาหลักที่ช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า มีดังนี้
- Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs)
เป็นกลุ่มยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดเนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยกว่าประเภทอื่น เช่น เซอร์ทราลีน (Sertraline, Zoloft, Serlift), เอสซิทาโลแพรม (Escitalopram, Lexapro), และฟลูออกซิทีน (Fluoxetine, Prozac, Fulox) - Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors (SNRIs)
ยากลุ่มนี้ทำงานโดยการเพิ่มระดับเซโรโทนินและนอร์เอพิเนฟรีนในสมอง เช่น เวนลาแฟกซีน (Venlafaxine, Effexor) และดูลอกซิทีน (Duloxetine, Cymbalta) - Tricyclic Antidepressants (TCAs)
ยากลุ่มนี้เป็นยาต้านเศร้ารุ่นแรกๆ ที่มีประสิทธิภาพสูง แต่มักมีผลข้างเคียงมากกว่าประเภทอื่นๆ เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline, Elavil) และอิมิพรามีน (Imipramine, Tofranil) - Monoamine Oxidase Inhibitors (MAOIs)
ยากลุ่มนี้เป็นยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มแรกๆเช่นเดียวกันกับ TCAs แต่ปัจจุบันใช้น้อยลงเนื่องจากมีผลข้างเคียงในเรื่องการรับประทานอาหารและการมีการทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นๆ - Atypical Antidepressants
ยาในกลุ่มนี้ไม่ตกอยู่ในหมวดหมู่ข้างต้นและมีกลไกการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น บูโพรเปียน (Buproprion, Wellbutrin) ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทโดปามีนและนอร์เอพิเนฟรีน
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดได้ เมื่อใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า
ยารักษาโรคซึมเศร้ามีผลข้างเคียงที่อาจแตกต่างกันไปตามประเภทของยา ผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากยาต้านซึมเศร้า ได้แก่
- อาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ ผู้ใช้บางรายอาจพบอาการปวดหัวและคลื่นไส้ในช่วงแรกของการรักษาซึ่งมักจะหายไปภายใน 1 - 2 สัปดาห์เมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับยา
- น้ำหนักตัวยาเพิ่มขึ้นหรือลดลง
- ส่งผลผลกระทบต่อการนอนหลับ อาจมีทั้งอาการนอนไม่หลับหรือง่วงนอนมากผิดปกติ
- ผู้ใช้บางรายอาจพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในด้านความต้องการทางเพศหรือความสามารถทางเพศ
- ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ปากแห้ง ท้องผูก ท้องเสีย
- ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหนื่อยล้าหรือไม่มีแรงมากกว่าปกติในช่วงแรกของการปรับยารักษาโรคซึมเศร้า
การเริ่มใช้ยาต้านซึมเศร้าควรมีการดูแลและติดตามผลข้างเคียงโดยแพทย์เพื่อปรับยาหรือรักษาอาการที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่กำลังพิจารณาหรือใช้ยาต้านซึมเศร้า ควรมีการพูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจอย่างชัดเจนและสามารถจัดการกับผลข้างเคียงได้ทันท่วงที
ความเข้าใจผิดที่คนส่วนใหญ่มีต่อการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า
การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ายังมีความเข้าใจผิดหลายประการที่อาจทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวลังเลใจไม่กล้าที่จะเริ่มการรักษาด้วยยา ความเข้าใจผิดที่พบได้บ่อยมีดังต่อไปนี้
- ยารักษาโรคซึมเศร้าคือ ยาที่ทำให้มีความสุข
ข้อเท็จจริง ยารักษาโรคซึมเศร้าไม่ได้สร้างความสุขโดยตรง แต่ทำงานโดยการปรับสมดุลของระดับสารสื่อประสาทในสมอง เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้าและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีสภาพจิตใจปกติเพื่อพร้อมเผชิญปัญหาต่างๆได้อย่างเต็มศักยภาพ - ยารักษาโรคซึมเศร้าทำให้เสพติด
ข้อเท็จจริง แม้ว่าการหยุดยาอย่างกะทันหันอาจนำไปสู่อาการถอนยา เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ แต่ยารักษาโรคซึมเศร้าไม่ได้ทำให้เสพติด ร่างกายไม่ได้ต้องการเพิ่มปริมาณการใช้ยาสูงขึ้นเรื่อยๆแบบยาเสพติด - ยารักษาโรคซึมเศร้าจะเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ
ข้อเท็จจริง ยารักษาโรคซึมเศร้าช่วยลดอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหมือนกลับมาเป็นตัวเองมากขึ้นในช่วงก่อนป่วย เช่น หงุดหงิดลดลง กลับมามองโลกในแง่ดีและตรงตามความเป็นจริง ประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานดีขึ้น ยาเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของผู้ป่วย เพียงแค่ช่วยทุเลาอาการของโรค - การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอ
ข้อเท็จจริง การใช้ยาเพื่อการรักษาสุขภาพจิตไม่ต่างจากการใช้ยาในการรักษาโรคทางกาย เช่น โรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ มันเป็นการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ - หากเริ่มใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า ต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต
ข้อเท็จจริง หลายคนอาจใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าในระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของแต่ละบุคคล บางคนอาจต้องใช้ยาเพียงช่วงสั้นๆ ในขณะที่บางคนอาจต้องการระยะเวลานาน
ปีติ คลินิก หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการใช้ยามากขึ้น และเห็นได้ว่าการรักษาโรคซึมเศร้านั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว รวมถึงผู้ที่มีอาการเกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจอื่น ๆ ซึ่งถูกเรียกว่า ผู้ป่วยจิตเวช พวกเขาเหล่านี้สามารถรักษาอาการป่วยทางใจ และกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติเช่นเดียวกับทุกคนในสังคมได้
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความสงสัยว่าอาการที่เกิดขึ้น หรือความรู้สึกที่กำลังเผชิญอยู่จะพัฒนาไปเป็นโรคทางสุขภาพจิตได้หรือไม่ ปรึกษา ปีติ คลินิก คลินิกสุขภาพจิต เรามีนักจิตบำบัดและทีมจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต รักษาแพนิค รักษาอาการนอนไม่หลับ รวมถึงจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สำหรับผู้ป่วยจิตเวชวัยเด็ก รักษาสมาธิสั้น รวมถึงอาการที่เสี่ยงเกิดขึ้นในเด็กได้โดยเฉพาะ
ต้องการปรึกษาก่อนเข้ารับบริการรักษาโรคซึมเศร้า ติดต่อ ปีติ คลินิก
เบอร์โทรศัพท์ : 090 230 6000
Line : @piticlinic
อีเมล : piticlinic.co@gmail.com
Facebook : Piti Clinic ปีติ คลินิก